The Law of Karma

Description


A Race with Karma

English Translation goes here.

สมมุติว่าในอนาคต นิสิตเรียนจบมาหลายปีจนไปเรียนต่อได้ปริญญาเอกชีวเคมีมาจากประเทศอังกฤษด้วยทุนของจุฬาฯ เมื่อกลับมาทำงานใช้ทุน ก็ถูกเพื่อนๆ จากสายสังคมศาสตร์ชวนไปช่วยงานการเมืองภาคประชาชน ที่กำลังเรียกร้องให้รักษาการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งให้ลาออก อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขจัดระบบทุนนิยมสามานย์และนักการเมืองเลวๆ ให้สิ้นซากไปจากแผ่นดินไทย ในช่วงเวลานั้นนิสิตได้แสดงความสามารถ ประดิษฐ์หน้ากากกันแกสน้ำตาประสิทธิภาพดีแต่ตาราคาถูกสำหรับป้องกันแกสน้ำตาที่ตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาล และประดิษฐ์เสื้อเกราะและหมวกเกราะราคาถูก ที่สามารถกันกระสุนยางและกระสุนจริงที่ตำรวจใช้ อีกทั้งยังประดิษฐ์น้ำยาชี้เป้า ซึ่งเป็นส่วนผสมของ alarm pheromone ของผึ้ง สำหรับให้เครื่องบินไร้คนขับนำไปพ่นใส่หน่วยตำรวจปราบจลาจล เพื่อล่อผึ้งให้เข้าไปสลายกองกำลังตำรวจโดยไม่ต้องมีการปะทะกับประชาชน จนตำรวจต้องถอยร่นในทุกการเผชิญหน้า ทำให้นิสิตได้รับยกย่องจากประชาชนให้เป็น “พ่อหมอ” มีผู้คนรู้จักมากพอๆ กับแกนนำของการชุมนุมนั้น ครั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติประชาชนจนสามารถกำจัดระบอบทุนนิยมสามานย์ให้พ้นจากประเทศไทยได้แล้ว นิสิตก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนของนักวิทยาศาสตร์เข้าไปอยู่ในสภาประชาชน ซึ่งมีหน้าที่ปฏิรูปกฎหมายเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่ยุติธรรม ในช่วงเวลานั้นเองนิสิตได้นำความรู้และประสบการณ์จากการประดิษฐ์คิดค้นต่าง ๆ ที่ได้ทำขึ้นไปตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ราคาประหยัดเพื่อส่งออกไปขายกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในต่างประเทศ ที่พยายามต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ ได้รับความนิยมมากในหลายประเทศด้วยประสิทธิภาพและราคาที่ไม่แพง จนต่อมาทั้งตำรวจและหน่วยงานปราบจลาจลในประเทศต่างๆ ก็พากันมาเป็นลูกค้าด้วย บริษัทของนิสิตจึงขยายผลิตภัณฑ์จนครบวงจร ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ทำให้นิสิตกลายเป็นเศรษฐีมีเงินในธนาคารหลายพันล้านบาท และมีฐานะที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาใกล้ๆ กันนั้น นิสิตได้แต่งงานและมีลูก อีกไม่กี่ปีต่อมาเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งประกาศนโยบาย deprivatization เพื่อดึงบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่กลับมาเป็นหน่วยงานของรัฐโดยการซื้อหุ้นคืน เรียกชื่อว่า “การพลังงานแห่งชาติ” และนิสิตก็ได้รับการทาบทามจากรัฐบาลให้เป็นผู้ว่าการคนแรกของการพลังงานแห่งชาติ การที่นิสิตได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล น่าจะมาจากภาพพจน์ว่านิสิตเป็นคนของประชาชน และมีผลงานเพื่อส่วนรวมเห็นเป็นรูปธรรม ทั้งในระยะหลังได้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านเริ่มโจมตีว่าบริษัทที่นิสิตตั้งขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อนนั้น ได้ขายอุปกรณ์ต่างๆให้ทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายรัฐบาลเผด็จการของต่างประเทศ แสดงว่านิสิตได้เปลี่ยนไปแล้ว คือถูกลิทธิทุนนิยมครอบงำจนถูกกำไรบดบังอุดมการ คนเช่นนี้ไม่น่าจะได้รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการพลังงานของประเทศ นิสิตเองเมื่อคิดย้อนกลับไปก็เริ่มสงสัยตัวเองเหมือนกันว่าเผลอขายอุปกรณ์เหล่านั้นให้รัฐบาลเผด็จการไปได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีนักข่าวออกมาย้ำเตือนว่า ยุทธวิธีสยบตำรวจด้วยฝูงผึ้งที่นิสิตคิดค้นขึ้นมาช่วยการเมืองภาคประชาชนให้ต่อสู้กับตำรวจโดยไม่ต้องมีการบาดเจ็บนั้น ได้ทำให้ตำรวจซึ่งแพ้พิษจากเหล็กในผึ้ง หายใจไม่ออกจนถึงแก่ความตายไป 2 คน แต่สำนักงานอัยการสูงสุด ด้วยความเกรงใจรัฐบาลชั่วคราวซึ่งกุมอำนาจการปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้น ได้สั่งไม่ฟ้องนิสิต แล้วนักข่าวก็สรุปว่า คนไทยควรจะไว้ใจให้ “ฆาตกร” มือเปื้อนเลือด ดูแลกิจการพลังงานของประเทศหรือ นิสิตรู้สึกว่า อันที่จริงนิสิตก็มีทุกอย่างแล้ว มีทั้งเงิน และครอบครัวที่น่ารัก ใจหนึ่งก็ไม่อยากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการ การพลังงานแห่งชาติเลย เพราะมีแต่จะหาเรื่องเสียชื่อเสียง อีกใจหนึ่งก็คิดว่า เรายังมีอุดมการอยู่ และน่าจะสามารถบริหารหน่วยงานนี้ เพื่อประเทศไทยได้โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง นิสิตจะตัดสินใจอย่างไรดี