GT200: Another Non-performing Military Toy that Claims Soldiers' Lives

จีที200 ค่าโง่ซ้ำซากที่ต้องจ่ายด้วยชีวิต

เลอสรร ธนสุกาญจน์

(ย่อลงในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 3)

Abstract

Abstract goes here.

ความสงสัยของสังคมต่อสมรรถนะของเครื่องตรวจระเบิด จีที200 จากเหตุระเบิดที่สุไหงโก-ลก ได้ทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ ออกมาจุดประกาย และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการเสวนาเรื่อง “หลักการทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องวัดวัตถุระเบิดและสารเสพติด” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553   ถึงแม้การเสวนานี้ไม่ได้จบลงด้วยข้อสรุป แต่ผมช่วยสรุปให้ก็ได้ว่า จีที200 ไม่ได้ทำงานบนหลักการใดๆ ที่วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหลักฟิสิกส์ เคมี หรือชีวะ   อย่างไรก็ตาม ในเมื่อทางทหารซึ่งเป็นผู้ใช้เครื่องนี้ยังยืนยันต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมในวันเดียวกันนั้นเอง ว่าเครื่องจีที200 มีสมรรถนะในการตรวจหาระเบิดได้จริง ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ ในการทดสอบ จีที200 จนได้ข้อสรุปภายในเวลาประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ มีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (คุณหญิง ดร. กัลยา โสภณพนิช) ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งได้เริ่มประชุมกันแล้ว

เนื่องจากผมมีความเป็นห่วงในสมรรถนะของอุปกรณ์ประเภทนี้มาหลายปี ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จึงขอให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมบางประการเกี่ยวกับ “เทคโนโลยี” ที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายมักจะอ้างว่าเป็นพื้นฐานของเครื่องตรวจระเบิดประเภทนี้ และเกี่ยวกับการทดสอบสมรรถนะ รวมทั้งการผ่าเครื่องเพื่อตรวจสอบภายในด้วย

เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามข่าว จีที200 มีด้ามจับคล้ายๆ ไมโครโฟนไร้สาย หรือกระป๋องน้ำอัดลม ตั้งอยู่ในแนวดิ่ง ด้านบนของด้ามจับมีก้านยาวๆ ทำจากเสาอากาศชนิดยืดได้ ชี้ไปทางด้านหน้า หันซ้ายหันขวาได้คล่อง  เมื่อตรวจพบสารวัตถุระเบิด ก้านยาวก็จะชี้ไปในทิศทางที่ตรวจพบทันที ส่วนบริเวณด้านล่างของเครื่องก็มีกล่องใส่การ์ด ซึ่งเอาไว้ตรวจสอบสสารประเภทต่างๆ ที่ต้องการค้นหา รวมทั้ง วัตถุระเบิด ยาเสพติด อาวุธปืน และกระสุนปืน

เครื่องตรวจวัตถุระเบิดทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นจีที200 ของบริษัทโกลบอลเทคนิคัล (Global Technical) ที่มีใช้ในประเทศไทย หรือ เอดีอี651 ของบริษัทเอทีเอสซี (ATSC-UK) ที่ใช้ในอิรัก หรืออัลฟา 6 ที่มีข่าวว่าหลายหน่วยงานจะสั่งมาใช้ตรวจยาเสพติด มีสรรพคุณที่ผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้ที่เชื่อ อวดอ้างว่าสามารถตรวจหาสารวัตถุระเบิด อาวุธสงคราม ยาเสพติด ซากศพ ฯลฯ  โดยใช้การวัดสนามแม่เหล็กภายใต้หลักการที่ว่า สสารทุกชนิดบนโลกมีปฏิสัมพันธ์กับสนามแม่เหล็กซึ่งเป็นตัวเชื่อมต่อ หรือไม่เช่นนั้นก็อ้างว่าใช้พลังงานจากสนามไฟฟ้าในตัวผู้ใช้ หรือใช้หลักการวัดสนามไฟฟ้าจากตัวคนที่ใช้งานเครื่องนั้นๆ อยู่ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จนทำให้สามารถตรวจจับสารที่ต้องการจะตรวจหาในปริมาณที่น้อยอย่างยิ่ง (เป็นต้นว่า 1 ในล้านล้านส่วน) ได้ทั้งในอากาศ บนดิน ใต้ดิน หรือกระทั่งใต้น้ำ เป็นระยะทางไกล (เป็นต้นว่า 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร) แต่ในกรณีที่ตรวจผิดพลาด ก็มีคำอธิบายว่า เพราะผู้ใช้ไม่มีความชำนาญ หรือสภาพร่างกายไม่เหมาะสม นอนไม่พอ ไม่มีสมาธิ ฯลฯ

การอวดอ้างทำนองนี้ ผมในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์พอสมควรในการตรวจวัดต่างๆ ทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี และชีวภาพ และเคยประเมินอุปกรณ์หลายอย่างเมื่อครั้งทำงานให้รัฐบาล ไม่เคยพบว่ามีเครื่องมือตรวจสนามแม่เหล็ก (magnetometer) ที่มีความไวขนาดนี้ หรือแยกแยะสารได้ในระดับนี้  แล้วถ้าหากเป็นการวัดสนามไฟฟ้า ยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการวัดสนามไฟฟ้าจากตัวผู้ใช้เครื่อง หรือจากวัสดุที่ต้องการจะตรวจหา เนื่องจากในระยะทางไกลขนาดนั้น สสารหรือตัวกลางที่ขวางกั้นระหว่างเครื่องวัดกับวัสดุที่ต้องการจะตรวจหา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำ) จะทำตัวเสมือนเป็นม่านกั้นไม่ให้เครื่องวัด “มอง” เห็นวัสดุได้เลย ยิ่งได้ดูวิดิโอของสำนักข่าวบีบีซี ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญแกะเปลือกพลาสติกของเอดีอี651 และของจีที200 แล้วมีแต่กล่องเปล่า การ์ดก็เป็นชนิดที่สามารถเก็บข้อมูลได้เพียงไม่กี่บิต และไม่มีการเชื่อมต่อกับอะไรเลยในตัวเครื่อง ยิ่งสรุปได้เลยว่า เครื่องตรวจวัสดุทำนองนี้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นอะไร ไม่ได้ใช้หลักการใดๆ ที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถอธิบายได้ ดังที่หลายคนมักจะเรียกกันสั้นๆ แกมเย้ยหยันว่า เป็นเครื่องมือลวงโลก หรือไม้ล้างป่าช้า ฯลฯ แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเครื่องมือทำนองนี้ มีใช้กันมาหลายปีได้อย่างไร และเพราะเหตุใด นายทหารทั้งระดับผู้ปฏิบัติ และระดับผู้บังคับบัญชา จึงยืนยันว่าเครื่องทำนองนี้ใช้ได้ผล?

เครื่องตรวจหาสสาร ที่ไม่ตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีแต่ก้านชี้หมุนไปมาได้ในมือของผู้ใช้ มีที่มาแต่โบราณกาล หลายคนคงเคยเห็นเครื่องมือหาน้ำใต้ดินในการ์ตูนโดราเอม่อนของญี่ปุ่น ส่วนฝรั่งมักเรียกตัวก้านชี้ว่า เดาซิ่ง ร็อด (dowsing rod) และเรียกวิธีการหาว่า เดาซิ่ง (dowsing ซึ่งคนที่เชื่อบอกว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน แต่คนที่ไม่เชื่อบอกว่าน่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า “เดา” ในภาษาไทย และ “เดาซิ่ง” ก็คือเดาตะพึดตะพือไปนั่นเอง) ที่เห็นได้บ่อยๆ ก็คือ การใช้กิ่งไม้เป็นง่ามเพื่อชี้หาตาน้ำ โดยจับง่ามไม้ไว้ในมือทั้งสอง ทำใจให้สบาย เดินไปเรื่อยๆ แล้วกิ่งไม้จะชี้ลงดินเองตรงที่มีตาน้ำ    แต่เดาซิ่ง ร็อด ไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งไม้ อาจเป็นท่อนไม้ ลวดโลหะ หรือที่นิยมใช้เพราะหาได้ง่ายคือไม้แขวนเสื้อชนิดลวด แต่ผู้ที่ชำนาญแล้วอ้างว่าสามารถตรวจหาสสารได้โดยไม่ต้่องใช้เดาซิ่งร็อด คือใช้เพียงมือเปล่าๆ ก็ยังได้

วิธีการนี้มีผู้อ้างว่าใช้หาสสารได้ร้อยแปดชนิดนอกเหนือจากน้ำใต้ดิน เช่น ใช้หาน้ำประปาในท่อ น้ำมัน โลหะ อัญมณี หลุมศพ โบราณสถาน แม้แต่เด็กที่หายไป ก็มีผู้อ้างว่าสามารถใช้วิธีนี้ตรวจหาได้ ขอเพียงให้คิดไว้ในใจว่าต้องการจะหาอะไร ก็จะได้สิ่งนั้น พูดอีกอย่างว่าต้องใช้ญาณหยั่งรู้ (intuition) เป็นองค์ประกอบหลัก และแทนที่จะตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเรียกว่าตั้งอยู่บนหลักการทางไสยศาสตร์ คือพึ่งพาพลังจิต ซึ่งกล่าวกันว่าสามารถฝึกฝนได้ และแต่ละคนมีความสามารถในการฝึกฝนพลังจิตต่างกัน

ผู้นิยมปฏิบัติเดาซิ่ง พอจะแบ่งง่ายๆ ได้เป็นสี่กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเดาซิ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้ขายเครื่องตรวจหาระเบิด ฯลฯ ซึ่งอาจจะต้องสาธิตให้ผู้สนใจ หรือผู้สงสัยได้ชม

กลุ่มที่สองเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่สนใจทดสอบสิ่งที่มีผู้เชื่อถือแต่ไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ จนได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ความสามารถของเดาซิ่งไม่ต่างไปจากการทอดลูกเต๋าที่ไม่ใช่เต๋าถ่วง ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์มักจะจัดเดาซิ่งไว้ในความเชื่อกลุ่มเดียวกับการรักษาอาหารไม่ให้เน่าเสียโดยวางไว้ใจกลางกล่องรูปพิระมิด การรับส่งโทรจิต การล่องหนหายตัว การกระโดดจากสถานที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเป็นระยะทางไกลแบบในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Jumper การเล่นผีถ้วยแก้ว และการเหาะเหินเดินอากาศหรืออย่างน้อยก็เป็นการลอยตัวขึ้นจากพื้นโดยไม่อาศัยแรงภายนอก  ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีคำอธิบายโดยหลักการวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับอยู่ในปัจจุบัน แต่มีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมากเชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ใช่มีเฉพาะในภาพยนตร์

กลุ่มที่สามเป็นชาวบ้าน ซึ่งทดลองทำด้วยความศรัทธา แล้วส่วนมากก็พบว่าสามารถใช้หาวัตถุที่ต้องการหาได้จริง เช่นใช้หาน้ำใต้ดินได้ แต่ในหลายกรณีก็มีคำอธิบายอย่างอื่น เช่น ในบริเวณที่มีระดับน้ำใต้ดินไม่ลึกนัก ขุดลงไปตรงไหนก็เจอน้ำทั้งนั้น ส่วนผู้ที่ศรัทธาก็มักจะแย้งว่า วิธีนี้นอกจากจะสามารถใช้หาน้ำใต้ดินได้ในบริเวณที่แห้งแล้งแล้ว ยังสามารถบอกความลึกของระดับน้ำได้อีกด้วย โดยพิจารณาจากระยะทางที่ต้องเดินไปจนไม้กระดกลงเป็นต้น  ท่านผู้อ่านที่สนใจจะหาดูเรื่องทำนองนี้ได้มากมายโดยสืบค้นในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะเชื่อถือได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะส่วนมากไม่ได้มีการทดลองโดยใช้ระเบียบวิธีตามหลักวิชาการ

กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มคนที่แทบจะสิ้นหวังในชีวิต เพราะหาวิธีใดมาช่วยเขาไม่ได้ ถ้าได้มีกำลังใจหรือมีความหวังขึ้นสักหน่อยก็พร้อมจะเชื่อทั้งนั้น เช่น คนที่หลงทางในทะเลทรายและกำลังขาดน้ำ หรือแม้แต่ทหารที่แขวนชีวิตตนเองไว้บนเส้นด้ายเพราะไม่รู้ว่าข้าศึกซ่อนกับระเบิดไว้ตรงไหน ถึงแม้วิธีนี้จะให้คำตอบแบบกำกวมคือไม่ชี้ชัดลงไป และไม่น่าจะให้ผลดีกว่าการคาดเดา ทหารที่มีประสบการณ์ก็รู้ว่าต้องใช้ร่วมกับเทคโนโลยีหาระเบิดแบบอื่นๆ โดยมีความหวังว่า โอกาสแม้จะน้อยนิดที่ทำให้เขาสามารถพบระเบิดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีอื่นล้วนๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีการเพิ่มโอกาสขึ้นเลย (ฝรั่งเรียกว่าเพิ่ม “the edge” ในการค้นหา) จึงไม่ควรใช้เครื่องตรวจระเบิดแบบพลังจิตนี้โดยลำพัง ต้องใช้ร่วมกับเครื่องตรวจระเบิดที่ใช้เทคโนโลยีตรวจวัดธาตุด้วยวิธีทางฟิสิกส์ (neutron activation) หรือด้วยการตรวจวัดไอระเหยทางเคมี ไม่ว่าจะใช้ไบโอเซนเซอร์ หรือใช้คีโมเซนเซอร์ในจมูกของสัตว์ (เช่นสุนัขทหารที่ได้รับการฝึกแล้ว) ถึงจะหวังผลได้

พูดเรื่องนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์เมื่อสี่สิบปีก่อน ที่เจ้ากรมการรักษาดินแดนในสมัยนั้น จัดทำผ้ายันต์รุ่นกันกระสุน ผ่านการบริกรรมปลุกเสกโดยเกจิอาจารย์มีชื่อเสียง ส่งไปให้ทหารตามชายแดนนับหมื่นผืน  เรื่องนี้หากดูเผินๆ ในทางวิทยาศาสตร์อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องตลกไร้สาระ แต่ทหารส่วนมากที่ได้รับมีความรู้สึกว่าได้กำลังใจ แล้วเอาไปติดไว้ด้านในของเสื้อเกราะอ่อน ที่เขาต้องสวมใส่อยู่ตามปกติทุกวัน แม้สมองจะบอกว่าผ้าบางๆ ชิ้นนี้ไม่มีทางกันกระสุนได้ แต่ในใจมีความรู้สึกว่า ถ้าความขลังมีจริง ก็ไม่เป็นเรื่องเสียหายถ้าเอามาช่วยเสริมเสื้อเกราะที่สวมใส่อยู่แล้ว ความแตกต่างระหว่างผ้ายันต์กันกระสุน กับเครื่องตรวจระเบิดพลังจิต ก็คือผ้ายันต์ไม่ได้มีราคาผืนละเป็นล้านบาท และไม่มีทหารสติดีคนไหน ที่ใช้ผ้ายันต์โดยไม่สวมเสื้อเกราะด้วย จึงไม่ปรากฎข่าวว่ามีทหารไทยตายจากผ้ายันต์ที่ไม่ทำงานตามสรรพคุณ

อันที่จริงความเชื่อทำนองนี้ อาจมีคำอธิบายอย่างอื่น ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ดูจะเกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและผลประโยชน์มากกว่า เป็นต้นว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด ก็ย่อมจะไม่ต้องการให้มีการตีแผ่ว่าเครื่องตรวจระเบิดที่ซื้อมาราคาชุดละเป็นล้านบาท ที่จริงไม่ต่างอะไรกับไม้แขวนเสื้อ หรือแม้แต่กิ่งไม้เพียงท่อนเดียว ไม่ว่าการจัดซื้อนั้นจะกระทำโดยสุจริตแต่ขาดความฉลาดหรือกระทำโดยขาดทั้งความฉลาดและความสุจริตก็ตาม   บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็คือผู้ผลิตในต่างประเทศและตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีโอกาสจะเสียผลประโยชน์หากมีการเปิดเผยเบื้องหลังของอุปกรณ์แบบเดียวกับที่สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้ทำไปแล้ว และหากผลการทดสอบตามหลักวิชาการออกมาในทางที่ไม่เป็นมงคลต่อตัวเครื่อง ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายก็อาจถูกกองทัพและครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตจากระเบิด ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นความแพ่ง และเป็นไปได้ว่าอาจมีโทษทางอาญาด้วยต่างหาก ซึ่งขึ้นอยู่กับการอวดอ้างสรรพคุณของสินค้าเป็นต้น

จากประสบการณ์ตรงของผมเอง อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ในเมื่อผลประโยชน์ของนักธุรกิจ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของข้าราชการบางคน  ผมทำนายได้ว่า ผู้ที่เกรงว่าตนจะเสียผลประโยชน์ จะพยายามดิ้นรนอย่างสุดชีวิต โดยใช้ทุกวิธีที่ไม่ตรงไปตรงมา ในการโน้มน้าวคณะกรรมการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่งตั้งขึ้น ให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อเขา ไม่ว่าคณะกรรมการจะสรุปไปโดยรู้ตัวหรือไม่  เรียกว่าไม่้ได้ด้วยเล่ห์ต้่องเอาด้วยกล ซึ่งถ้าคณะกรรมการไม่ “เขี้ยวลากดิน” พอ ก็อาจหลงกลได้ง่ายๆ

ถึงแม้คณะรัฐมนตรีและประชาชนทั่วไปจะเร่งรัดให้สรุปผลการทดลองภายในหนึ่งหรือสองสัปดาห์ สิ่งที่คณะกรรมการน่าจะทำ คือออกแบบขั้นตอนของการทดสอบ (protocol) แล้วประกาศในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สาธารณชนได้วิจารณ์สักหนึ่งสัปดาห์ แล้วนำมาปรับปรุง ประกาศใหม่ให้วิจารณ์อีกหนึ่งหรือสองครั้ง จนเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน แล้วจึงเริ่มทำการทดสอบ

ในการทดสอบ น่าจะเชิญนักมายากลเข้าเป็นกรรมการ หรือให้ร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย เนื่องจากในอดีต เคยมีนักวิทยาศาสตร์ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงว่าออกแบบการทดสอบได้รอบคอบไม่มีช่องโหว่ แต่สุดท้ายก็ถูกหลอกโดยพวกมิจฉาชีพ ซึ่งใช้หลักการทางมายากลในการต้มตุ๋นกรรมการทั้งคณะ หรือต้มตุ๋นนักวิทยาศาสตร์จนแทบเสียคนมาแล้ว   จึงน่าจะอาศัยให้นักมายากลช่วยจับผิดนักมายากลด้วยกันเอง

สำหรับการผ่าพิสูจน์๋ตัวเครื่องจีที200 นั้น มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่กังวลว่าตัวเองอาจจะเสียผลประโยชน์ จะพยายามดัดแปลงเครื่องจีที200 ก่อนจะส่งไปให้คณะกรรมการผ่าพิสูจน์ โดยเติมแผงวงจรและอุปกรณ์เข้าไปภายในกล่อง ให้ดูเผินๆ เหมือนกับว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่ซับซ้อน เต็มไปด้วยวงจรรวม (integrated circuit) ที่ไม่สามารถไล่วงจรดูการทำงานได้ง่ายๆ   การส่งของปลอมมาให้ตรวจนี้ ทำให้ผมนึกถึงกรณีเขื่อนเหวนรกเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ที่ผู้มีผลประโยชน์ในการสร้างเขื่อนร่วมมือกับข้าราชการบางคน หลอกผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พาไปดูป่าตรงที่เสื่อมโทรมไปแล้ว เพื่อให้อนุมัติการสร้างเขื่อนเหวนรกเนื่องจากหลงเชื่อว่าการสร้างเขื่อนจะไม่ทำลายป่าไม้ที่สมบูรณ์  เคราะห์ดีที่คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรู้ทัน จึงไม่เกิดการสร้างเขื่อนเหวนรกขึ้น (อีกราวสิบห้าปีต่อมาจึงได้มีการสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลในพระราชดำริ ใต้น้ำตกเหวนรกลงมา เพื่อการบริหารน้ำในลุ่มน้ำนครนายกและพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่ทำลายป่าเหนือน้ำตกขึ้นไป) สิ่งที่ควรจะทำก่อนผ่าพิสูจน์ คือนำเครื่องตรวจระเบิดด้วยพลังจิตเป็นจำนวนมาก (สักร้อยสองร้อยเครื่องน่าจะพอ) มาสุ่มตัวอย่างกันในสถานที่ทดลอง แล้วผ่าพิสูจน์เพียงไม่กี่เครื่องเปรียบเทียบกัน ถ้าพบแผงวงจรไฟฟ้า ก็ต้องหาทางไล่วงจรจนเข้าใจการทำงานของแผงวงจรนั้น แทนที่จะให้ผู้ใช้หรือผู้ขายเลือกเครื่องตัวอย่างส่งมาตรวจเพียงเครื่องสองเครื่อง

อนึ่ง เคยมีตัวอย่าง ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ คัดค้านการผ่าพิสูจน์ทำนองนี้ว่า ไม่สามารถทำได้เพราะอุปกรณ์ภายในถือเป็นความลับทางการค้าของบริษัท การผ่าพิสูจน์เครื่องถือเป็นการผิดสัญญาการจัดซื้อเครื่อง ซึ่งฝ่ายไทยได้ไปลงนามไว้นานแล้วโดยไม่เคยอ่านเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย ฯลฯ  ในกรณีนี้คณะกรรมการฯ อย่าได้หลงเชื่อ ควรพิจารณาว่าสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า มีลักษณะเป็นความลับทางการค้าตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่เป็นความลับทางการค้าก็ไม่ต้องห่วง ถ้าเป็นความลับทางการค้าตามกฎหมาย ก็ให้ไปดูข้อยกเว้นตามมาตรา 7(2) ก. หรือ ข. ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 เป็นต้น สุดท้ายก็จะสามารถผ่าพิสูจน์ได้อยู่ดี เรื่องนี้ให้แง่คิดว่า ในคณะกรรมการฯ ควรจะมีนักกฎหมายอยู่ด้วย หรือมีนักกฎหมายเป็นที่ปรึกษา

ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ คงจะเคยได้ยินนิทานของฮัน คริสเตียน แอนเดอร์สัน เรื่อง “ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา” ซึ่งนักต้มตุ๋น คิดวิธีหลอกหาเงินจากพระราชา โดยแกล้งทำเป็นทอผ้าวิเศษที่คนไม่คู่ควรกับตำแหน่งจะมองไม่เห็นเนื้อผ้า เอามาตัดเป็นฉลองพระองค์  ประชาชนและข้าราชบริพารทุกคนรวมทั้งพระราชาเองด้วย จึงต้องแสร้งทำเป็นว่ามองเห็นเนื้อผ้าอันวิจิตรของฉลองพระองค์ จนมีเด็กน้อยที่ดูขบวนเสด็จอยู่ข้างทางร้องลั่นซ้ำๆ กันด้วยความไร้เดียงสาว่า “พระราชาแก้ผ้าๆ” แม้พระราชาจะรู้สึกพระองค์ว่าเสียทีนักต้มตุ๋นไปแล้ว แต่ก็พยายามรักษาพระพักตร์ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินอย่างองอาจและภาคภูมิใจมากกว่าเดิมไปจนถึงปลายทาง

เพื่อไม่ให้เป็นอย่างในนิทานที่ยกมานี้ คณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา และอย่าไปหลงเชื่อคำขู่ (ถ้ามี) ว่าต้องให้ผลการตรวจสอบออกมาว่าใช้งานได้ ด้วยเกรงว่าหากผลการตรวจสอบออกมาว่าเครื่องตรวจระเบิดไม่มีสมรรถนะจริง (เหมือนกับฉลองพระองค์ที่ไม่มีอยู่จริง) แล้วจะทำให้ทหารหมดกำลังใจ และทำให้ผู้ก่อการร้ายได้ใจ  อันที่จริงหลายท่านคงเคยเห็นโปสเตอร์ของผู้ก่อการร้ายที่ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ นำมาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพื่อแสดงว่า ผู้ก่อการร้ายรู้่และเยาะเย้ยทหารไทยเรื่องใช้เครื่องตรวจระเบิดที่ไร้ประสิทธิผล มีแต่พวกเรากันเองเท่านั้นที่ไม่รู้ ในเรื่องนี้ทหารไทยและพี่น้องคนไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตของเขาเพื่อชดใช้ค่าโง่ของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา ในขณะที่การสังเวยนี้มีโอกาสจะเกิดซ้ำได้อีกเรื่อยๆ  และคนไทยทั้่งประเทศก็อยู่ในข่ายน่าสงสารเช่นกันแม้จะน้อยกว่าเนื่องจากเครื่องเหล่านี้ซื้อมาด้วยเงินภาษีของพวกเราทุกคน

เมื่อได้ตรวจพิสูจน์อย่างรอบคอบแล้ว ไม่ว่าผลการตรวจพิสูจน์จะออกมาเป็นอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องมีใจเปิดกว้าง หากผลออกมาว่าเครื่องตรวจระเบิดดังกล่าวใช้งานได้จริง แม้จะไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน สิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์ของไทยและของโลกจะได้รับ ก็คือโจทย์วิจัยข้อใหม่ สภาวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คงจะต้องตั้งทุนวิจัยสาขาใหม่ เพื่อหาคำอธิบายสมรรถนะของเครื่องตรวจหาวัตถุด้วยพลังจิต แข่งกับนักวิทยาศาสตร์ในประเทศอื่นๆ และทวีปอื่นๆ  ใครตั้งทฤษฎีอธิบายได้เป็นคนแรก เช่นทฤษฎีควอนตัมขั้นลึกซึ้งที่ไม่มีผู้ค้นพบมาก่อน ก็คงมีสิทธิที่จะคว้ารางวัลโนเบลไปได้โดยไม่ยากนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการขาดหลักการที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถอธิบายได้ ประกอบกับผลการตรวจพิสูจน์ของหน่วยงานต่างประเทศ ทั้งจากอังกฤษ และจากเอฟบีไอกับห้องปฏิบัติการแห่งชาติแซนเดีย (Sandia National Laboratories) ของสหรัฐอเมริกาแล้ว แทบจะฟันธงได้เลยว่า โอกาสที่ผลการตรวจพิสูจน์จะออกมาว่าเครื่องตรวจระเบิดพลังจิตใช้งานได้จริงนั้นมีริบหรี่เต็มทน  และถ้าหากผลการตรวจพิสูจน์ได้ความว่าวิธีตรวจหาระเบิดทำนองนี้มีความลวงโลกไม่แพ้น้ำหมักของป้าเช็งแล้วละก้อ  ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อก็เตรียมตัวชดใช้กรรมไว้ได้เลย

_________________

ความเห็นของผู้เขียน เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ผูกพันหน่วยงานใดๆ ที่ผู้เขียนเคยทำงานหรือทำงานอยู่

__________________

ดร. เลอสรร ธนสุกาญจน์ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยของวัสดุนาโน ศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอดีตเคยเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย  กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) กรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติ (NOC) กรรมการทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   นอกจากนั้นยังเคยเป็น Contributing Editor ของหนังสือพิมพ์ The Nation และเคยเขียนคอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภคชื่อ “ลองของ” ลงในนิตยสาร “ลลนา” เมื่อสามสิบปีมาแล้ว