Cabinet Meeting Room
Lesson from History

ห้องประชุม ครม. บทเรียนจากประวัติศาสตร์

เลอสรร ธนสุกาญจน์

9 กันยายน 2557

ข่าวเด่นชิ้นหนึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีความเกี่ยวข้องกับระบบเครื่องเสียงในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่ชั้น 5 ของตึกบัญชาการ ตามข่าวกล่าวว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี …

“… ใช้เทคโนโลยีเดียวกับทำเนียบขาว … ซึ่ง [นาย] บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯใช้อยู่ ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งระบบเครื่องเสียงที่ใช้ทั้งหมดติดตั้งโดยใช้ระบบทัชสกรีน และมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ มีระบบการป้องกันการดักฟัง เพื่อป้องกันการประชุมรั่วไหล โดยในห้องประชุม [คณะรัฐมนตรี]   ใช้ไมโครโฟนทั้งสิ้น 89 ตัวๆละ 1.45 แสนบาท …  ซึ่งห้องประชุมทั้ง 3 ห้อง … ใช้งบประมาณปรับปรุงทั้งสิ้น 69 ล้านบาท” (ข่าวสดออนไลน์ 4 กันยายน 2557) 

ตัวเลขราคาของไมโครโฟนดังกล่าว แพร่สะพัดไปในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว จนหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาแถลงทางเฟสบุ้คของท่านว่าท่าน “ไม่เคยให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ” แล้วก็อธิบายต่อไปว่า “อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ให้สัมภาษณ์ไว้โดยชัดเจนแล้วว่า ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแต่ประการใด ราคายังสามารถต่อรองลงได้อีก …”   

ในขณะที่เขียนเรื่องนี้ นักข่าวหลายคนกำลังขุดคุ้ยเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนว่าราคาของไมโครโฟนดังกล่าวควรจะเป็นตัวละเท่าไรแน่ และงบประมาณถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับในที่นี้ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังถึงประวัติของการสร้างห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่ปรากฎในข่าวเมื่อ 25 ปีก่อน โดยจะเน้นถึงบทเรียนว่า นอกจากประเด็นราคาว่าแพงเกินจริงหรือไม่แล้ว ท้ายที่สุดต้องมีการทดสอบว่าราคาคุยต่างๆ ที่ฟังดูสวยหรูนั้นใช้งานได้จริงหรือไม่ด้วย ถ้ายังใช้ไม่ได้ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ใช้ได้ แต่ถ้าออกแบบโดยขาดความรู้ความชำนาญมาตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็อาจจะไม่สามารถใช้งานได้เลย

ย้อนหลังกลับไปเมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครอง    ในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระที่นั่งอนันตสมาคมถูกใช้เป็นที่ทำการของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย ก็มีบัญชาให้ย้ายสำนักนายกรัฐมนตรีมาอยู่ที่วังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่พักของ ฯพณฯ ด้วย  ต่อมาเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 สำนักนายกรัฐมนตรีถูกย้ายออกจากวังปารุสกวันไปอยู่ที่วังสวนกุหลาบ อีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อรัฐบาลไทย (ในนามสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ซื้อบ้านนรสิงห์มาจากเจ้าพระยารามราฆพ จอมพล ป. ก็มีบัญชาให้ย้ายสำนักนายกรัฐมนตรีจากวังสวนกุหลาบมาอยู่ที่บ้านนรสิงห์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย และทำเนียบรัฐบาล ตามลำดับ) และให้ใช้สถานที่ภายในตึกไทยคู่ฟ้า (เดิมชื่อตึกไกรสร) เป็นห้องประชุมคณะรัฐมนตรี  อีกสองทศวรรษต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร  ทั้งกระทรวงและรัฐมนตรีมีจำนวนมากขึ้น ภายในตึกไทยคู่ฟ้าเริ่มคับแคบ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีจึงถูกย้ายไปอยู่ที่ชั้น 3 ของตึกบัญชาการหลังใหม่ในขณะนั้น อีกกว่าทศวรรษต่อมาปลายสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ 19 ล้านบาทเศษ เพื่อย้ายห้องประชุมคณะรัฐมนตรีออกไปยังสถานที่ที่กว้างขวางกว่า แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีท่านถัดมา เริ่มเข้ามาใช้ห้องประชุมชั้น 3 ของตึกบัญชาการเป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  ฯพณฯ ได้บ่นเปรยไว้ว่า คล้ายกับจัดประชุมคณะรัฐมนตรีกันใต้เรือนกล้วยไม้ เนื่องจากบรรยากาศของห้องประชุมที่ชั้น 3 ของตึกบัญชาการมืดครึ้มเพราะแสงสว่างมีไม่พอ  ข้าราชการระดับสูงของสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้รื้อแผนการย้ายห้องประชุมคณะรัฐมนตรีจากยุคของพลเอกเปรม ขึ้นมาปัดฝุ่น เพิ่มรายการปรับปรุงต่างๆ ให้เกิดความงามสง่า เพิ่มลิฟท์อย่างดี ปรับปรุงกำลังไฟฟ้าและระบบการประชุม ฯลฯ รวมเป็นงบประมาณ 41 ล้านบาทเศษ โครงการมีระยะเวลาหนึ่งปี  โดยเริ่มวางแผนกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2531 ดำเนินการก่อสร้างระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2532 เพื่อให้เปิดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2532

อันที่จริงเมื่อแรกเริ่มโครงการนั้น มีแนวคิดสวนทางกันอยู่สองแนว แนวทางหนึ่งให้สร้างห้องประชุมคณะรัฐมนตรีขึ้นบนชั้น 5 ของตึกบัญชาการ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งให้สร้างตึกใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับห้องประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้สามารถออกแบบระบบไฟฟ้า และระบบรักษาความปลอดภัยด้านต่างๆ  ได้เป็นพิเศษ เช่น ระบบต่อต้านกระสุนวิถีโค้งและจรวดนำวิถี (ทำนองเดียวกับทำเนียบขาวตามจินตนาการในภาพยนต์ฮอลลิวูด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถออกแบบฐานรากและเสาคอนกรีตให้สามารถรับน้ำหนักอุปกรณ์ต่างๆ ของห้องประชุม และรับน้ำหนักของระบบรักษาความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี   ในขณะที่ตึกบัญชาการถึงแม้จะมีฐานรากที่มั่นคงแข็งแรง แต่พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักมากบนชั้นที่ต่อขึ้นไปบนดาดฟ้า แต่ในที่สุดเนื่องจากความเร่งด่วนของโครงการ ซึ่งถูกกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีในขณะที่ต้องไม่ใช้งบประมาณมากด้วย สุดท้ายจึงใช้วิธีให้ย้ายหน่วยงานเดิมของสำนักนายกรัฐมนตรีออกไปจากชั้น 5 ของตึกบัญชาการ แล้วนำพื้นที่มาสร้างเป็นห้องประชุมคณะรัฐมนตรี   โดยสถาปนิกได้ใช้ความระมัดระวัง ว่าอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากจะต้องถูกติดตั้งไว้ตรงบริเวณใกล้ๆ หัวเสา และแยกห้องถ่ายเอกสารกับห้องเก็บเอกสารสำหรับแจกในที่ประชุม ซึ่งมีน้ำหนักมาก ออกไปไว้ให้ห่างจากห้องประชุมเป็นต้น

ในด้านระบบเสียงของห้องประชุมนั้น มีรายงานข่าวว่า นอกเหนือจากความหรูหราอย่างสุดยอดแล้ว ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีห้องใหม่ในสมัยนั้น จะมีระบบเสียงที่ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำยุคด้วย

“… ส่วนเสียงการพูดคุยอภิปราย ตามที่นั่งประจำของรัฐมนตรีจะไม่มีไมโครโฟนโผล่มาให้เห็น  … ระบบการรับและขยายเสียงเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ซ่อนรูปใต้แท่นโต๊ะ  … ไม่ว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะอยู่มุมใดของห้อง … ไม่ว่ารัฐมนตรีที่อภิปรายจะอยู่ในอากัปกิริยาใด ระบบเสียงจะหรี่หรือขยายให้ระดับความดังเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา … ในขณะที่เสียงพูดที่เบาค่อยไป เสียงจะปรับความดังให้ผู้เข้าประชุมได้ยินอย่างทั่วถึงขึ้นเอง … แต่หากว่ามีการถกเถียงหรือมีเสียงเจื้อยแจ้วที่พูดไม่ยอมหยุดแล้ว ระบบเสียงจะค่อยๆ หรี่เสียงเจ้าปัญหานั้นค่อยลงไปเอง” (มติชน 21 ตุลาคม 2532)

ตามการออกแบบของบริษัทเครื่องเสียงที่ได้รับการคัดเลือกมาจากประสบการณ์ในการสร้างห้องประชุมล้ำยุคให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย และตามคำแนะนำของผู้แทนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  โต๊ะยาวที่รัฐมนตรีนั่งเรียงกัน จะมีไมโครโฟนซ่อนอยู่หน้ารัฐมนตรีแต่ละท่าน โดยมีระบบอัตโนมัติคอยปรับแต่งความดัง-เบา ของเสียงให้เหมาะสมกับการพูดของรัฐมนตรีท่านนั้นๆ ซึ่งตามความคาดหวังนี้ก็คือเมื่อรัฐมนตรีนั่งพูดหรือยืนพูดด้วยระดับเสียงธรรมดา เสียงจะถูกขยายออกไปทั่วห้องให้ฟังได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องกดปุ่มเมื่อต้องการพูด

อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดห้องประชุมคณะรัฐมนตรีให้สื่อมวลชนได้ชมเป็นครั้งแรกเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2532 ทุกคนก็เริ่มตระหนักว่าระบบเสียงล้ำยุคนี้มีปัญหา ตัวอย่างเช่น

“เหตุที่มีปัญหาก็เพราะเขาออกแบบโดยไม่ใช้ไมโครโฟน แต่ใช้ระบบอะไรไม่ทราบได้ ที่จะทำให้เสียงกึกก้องกังวาลไปทั่ว ซึ่งพอประชุมเข้าจริงๆ แล้วยังดังไม่ทั่วอย่างที่หวังไว้” (ซูม เหะหะพาที ไทยรัฐ 30 ตุลาคม 2532)

“เกิดปัญหาการสะท้อนของเสียงไม่สมดุลกับรูปทรงของห้องประชุม ทำให้ไมโครโฟนระบบซ่อนตัวและปรับวอลลุ่มเองโดยอัตโนมัติ ใช้ในการประชุมไม่ได้ ในที่สุดรัฐมนตรีหลายคนต้องเรียกร้องให้นำไมโครโฟนแบบแท่นกดมาใช้แทน” (มติชน 22 เมษายน 2533)

รายละเอียดมีอยู่ว่า ปัญหาที่พบในการประชุมคณะรัฐมนตรีก็คือ รัฐมนตรีบางท่านเสียงเบาอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น ถึงแม้จะพูดให้เสียงดังขนาดไหน ไมโครโฟนล้ำยุคที่ซ่อนตัวอยู่ในโต๊ะประชุม ก็ไม่สามารถจับเสียงได้ ทำให้นายชวนไม่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และการประชุมต้องสะดุด จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะระบบอัตโนมตินี้ไม่มีปุ่มหรือ
สวิทช์ใดๆ ให้กดเปิดปิดจากที่นั่งของรัฐมนตรีได้เลย  ในทางปฏิบัติจึงต้องขอให้เถ้าแก่ของบริษัทเครื่องเสียงมานั่งควบคุมเครื่องเสียงด้วยตนเองอยู่หลังจอฉายภาพ และเข้าร่วมฟังการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยทุกครั้งที่มีการประชุม จนเป็นที่ตลกขบขัน (และสมเพช) ในสายตาของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งยังเป็นฝันร้ายของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยของการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกด้วย สุดท้ายระบบอัตโนมัติล้ำยุค จึงต้องถูกตัดทิ้ง เปลี่ยนเป็นไมโครโฟนแบบปกติ ที่มีปุ่มให้กดเปิดปิด เหมือนอย่างที่รัฐมนตรีหลายท่านเรียกร้องตามข่าวหนังสือพิมพ์ข้างต้น

ส่วนระบบรักษาความปลอดภัยของห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ที่จัดสร้างไว้เมื่อ 25 ปีก่อน ก็ฟังดูก็ล้ำสมัยเช่นกัน เป็นต้นว่า

“ในด้านความปลอดภัยนั้น   ได้จัดตั้งเป็นพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านจารกรรม คือควบคุมการลักลอบจารกรรมทุกประเภท   ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือเอกสาร  ไม่ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีในการดักฟังด้วยวิธีใด หน่วยควบคุมนี้จะรู้ได้หมด และรู้ทันทีก่อนที่ความลับในที่ประชุมจะรั่วไหลออกไป” (ทีเล่น-ทีจริง โดย ทหารเก่า สยามรัฐ 25 ตุลาคม 2532)

“ระบบเสียงภายในห้องประชุมถูกกักเก็บความถี่อย่างดีเยี่ยม     ในขณะที่ผนังห้องประชุมด้านที่ [เป็น] กระจกสามารถป้องกันการดักฟังทางคลื่นอากาศ และตลอดเวลาการประชุม จะมีเครื่องตรวจจับความถี่ของคลื่น [วิทยุ] ทุกชนิดที่ … แปลกปลอม …   โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับต้นกำเนิดทุกจุดที่พยายามส่งคลื่นสัญญาณเพื่อรับดักฟังได้อย่างแม่นยำ”   (มติชน 21 ตุลาคม 2532)

จากข่าวจะเห็นได้ว่า ระบบรักษาความปลอดภัยล้ำยุค ประกอบด้วยสองส่วน คือ ผนังห้องประชุมที่กันคลื่นวิทยุรั่วไหลออกไปนอกห้อง ซึ่งเป็นการป้องกันเครื่องดักฟังที่อาจมีผู้แอบมาติดตั้งไว้ในห้องประชุม และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้เข้าประชุมอาจจะพยายามใช้ส่งเสียงในห้องประชุมผ่านคลื่นวิทยุออกไปยังผู้รับภายนอก   อีกส่วนหนึ่งของความล้ำยุค คือมีเครื่องตรวจจับคลื่นวิทยุที่อาจจะมีผู้ใช้สำหรับส่งเสียงหรือข้อความออกไปนอกห้อง เครื่องที่ว่านี้สมัยนั้นมีอยู่สองเครื่อง เครื่องหนึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด (หน่วยข่าวกรองทหาร) อีกเครื่องหนึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (หน่วยข่าวกรองพลเรือน) ทำงานเฝ้าระวังคู่ขนานกันไป จึงเป็นที่มาของคำบรรยายสรรพคุณว่า “ไม่ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีในการดักฟังด้วยวิธีใด หน่วยควบคุมนี้จะรู้ได้หมด” ฯลฯ

ในการเปิดห้องประชุมคณะรัฐมนตรีให้สื่อมวลชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2532 เริ่มมีผู้สงสัยถึงความสามารถของระบบป้องกันคลื่นวิทยุรั่วไหลออกไปนอกห้องประชุม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ป้องกันคลื่นผ่านกระจกหน้าต่างบานใหญ่ๆ นั้น เพ่งกันสักเท่าไหร่ก็ดูไม่ต่างจากเส้นตัวนำไฟฟ้าบางๆ ที่ติดไว้บนกระจกรถยนต์สำหรับอุ่นกระจกรถยนต์ให้ร้อนเพื่อไม่ให้ละอองน้ำจับกระจกจนเห็นเป็นฝ้า (windshield defogger) ไม่มีใครเข้าใจว่าเส้นตัวนำไฟฟ้าเหล่านี้จะไปป้องกันคลื่นวิทยุไม่ให้รั่วไหลออกไปนอกห้องประชุมตามคำโฆษณาได้อย่างไร

หนึ่งอาทิตย์ต่อมา หลังจากที่มีการเปิดห้องประชุมคณะรัฐมนตรีให้สื่อมวลชนได้เข้าชม คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับความร่วมมือจากกองช่างของกรมไปรษณีย์โทรเลข (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.) ในการนำเครื่องวิเคราะห์สเปกตรัมความถี่วิทยุ (spectrum analyzer) มาทดสอบการลดทอน (attenuation) ของห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่ความถี่ต่างๆ สรุปผลออกมาอย่างน่าตกใจว่า “ผนังห้องประชุมคณะรัฐมนตรี สามารถป้องกันคลื่นวิทยุได้ ไม่ดีไปกว่าผนังอิฐมอญธรรมดา”

ผลการทดสอบนี้ทำให้เรื่องตลกๆ เกี่ยวกับระบบเสียงของห้องประชุมที่ไม่ทำงาน กลายเป็นเรื่องซีเรียสขึ้นมาทันที  เพราะความลับที่พูดกันในห้องประชุมเกี่ยวกับนโยบายของชาติและการบริหารระดับสูง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ในยามสงบ การเข้าถึงความลับเหล่านี้ก็สามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่นักธุรกิจได้อย่างมหาศาล และสร้างความได้เปรียบในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ให้แก่รัฐบาลของประเทศคู่เจรจา  ดังมีตัวอย่างเมื่อต้นทศวรรษที่ 80 ว่า รัฐบาลอเมริกันจำเป็นต้องตัดสินใจรื้อตึกสถานทูตสหรัฐฯ ในรัสเซียทิ้ง เมื่อทราบแน่ว่าอาคารดังกล่าวซึ่งสร้างขึ้นในทศวรรษที่ 70 ระหว่างช่วงสงครามเย็น ไม่มีความปลอดภัยทางการสื่อสารและอิเล็กทรอนิคส์

โดยปกติแล้วปัญหาทำนองนี้ ควรจะจัดการแก้ไขกันได้ในระดับข้าราชการประจำ แต่เนื่องจากความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ และความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานข่าวกรองหลายหน่วย ประกอบกับเรื่องทำนองนี้ ฝ่ายค้านอาจจะหยิบยกมาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ในอนาคต คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจนำข้อมูลการทดสอบของกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าว นำเสนอด้วยวาจาต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องด่วน พร้อมทั้งมีเอกสารประกอบอีกเกือบหนึ่งร้อยหน้า

ถึงแม้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จะเข้าใจความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยจากการดักฟังเป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นทั้งนักการเมือง ทหาร และนักการทูต แต่เพื่อความมั่นใจว่าเรื่องนี้มีมูล ก่อนจะให้ฝ่ายข้าราชการประจำดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการ  ท่านจึงได้มีบัญชา ให้จัดการทดสอบขึ้นเป็นการลับ เกี่ยวกับสมรรถนะการป้องกันการดักฟังเสียงจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรี โดยตัวท่านนายกรัฐมนตรีเองจะร่วมในการทดลองด้วย  คือท่านนายกฯ จะพูดอยู่ในห้องประชุม ในขณะที่เปิดระบบป้องกันการจารกรรมทุกระบบให้ทำงานเต็มที่ แล้วดูว่าจะสามารถบันทึกเสียงของท่านจากนอกห้องประชุมได้หรือไม่     ในการทดลองนั้นเนื่องจากมีการตรวจจับความถี่วิทยุโดยหน่วยงานข่าวกรองของทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารอยู่ตลอดเวลาดังกล่าวแล้ว เสียงของ ฯพณฯ จึงถูกส่งออกไปนอกห้องโดยคลื่นวิทยุ ซึ่งไม่ได้ออกอากาศ แต่ส่งผ่านลงไปทางสายไฟฟ้ากำลังที่มาจากโรงไฟฟ้า อันเป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งไม่มีระบบแยกวงจรไฟฟ้าภายในห้องออกจากวงจรไฟฟ้าภายนอก (isolation) อีกทั้งยังไม่มีระบบกรองคลื่นวิทยุในสายไฟฟ้าให้ลัดลงดินไปเสีย เพื่อป้องกันการดักฟังผ่านทางสายไฟฟ้า โดยที่การตรวจจับความถี่วิทยุของทั้งสองหน่วยงานจะตรวจไม่พบว่ามีการดักฟังแต่อย่างใด  ในขณะที่ด้านนอกของตึก เจ้าหน้าที่เทคนิคสามารถใช้เครื่องรับวิทยุดึงสัญญาณวิทยุจากสายไฟฟ้าออกมาบันทึกเสียงลงเทปได้อย่างง่ายดาย

ในวันรุ่งขึ้น ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อัจฉริยภาพของท่านในด้านบริหาร เรียกประชุมลับเฉพาะข้าราชการที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับเรื่องการก่อสร้างและความปลอดภัยของห้องประชุม ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่มีผู้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ฯพณฯ เปิดเทป (ที่อัดไว้เมื่อวันวาน) ให้ที่ประชุมฟังแล้วกล่าวสั้นๆ ว่า ในเวลานั้นมีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของห้องประชุมคณะรัฐมนตรีห้องใหม่ ทั้งยังมีผู้ส่งเทปนี้มาให้เป็นหลักฐานว่าห้องประชุมคณะรัฐมนตรีถูกดักฟังได้จริง จึงมีบัญชาให้ดำเนินการสอบสวนว่าห้องประชุมนี้ป้องกันการดักฟังได้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ก่อนที่ประเทศชาติจะเสียหาย   จากการประชุมลับในวันนั้นทำให้สำนักนายกรัฐมนตรีเริ่มมีการทดสอบระบบความปลอดภัยของห้องประชุมอย่างเป็นทางการ    โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2532 ศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด   ได้ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคกว่าสิบคน มาทำการตรวจอย่างละเอียด ทั้งระบบการป้องกันคลื่นที่กล่าวถึงแล้ว   ไปจนถึงระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง   ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า ห้องประชุมไม่สามารถป้องกันคลื่นวิทยุได้เลย นอกจากนั้นยังพบจุดอ่อนของห้องประชุมนี้อีกเป็นบัญชีหางว่าว และได้ให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขไว้อีกเป็นบัญชีหางว่าวเช่นกัน

เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายเดือนจนถึงปี 2533 จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ราคาคุยสำหรับความล้ำยุคของห้องประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถใช้งานได้จริง ดังตัวอย่างการสัมภาษณ์พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นนายทหารสื่อสารรุ่นเก่าและเป็นผู้เข้าใจเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยทางสื่อสัญญาณวิทยุอย่างดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของไทย หนังสือพิมพ์ได้พาดหัวข่าวว่า

“ ‘บิ๊กจิ๋ว’ ส่ายหน้ากันจารกรรมสุดห่วย  ห้อง ครม. ไฮเทคเจ๊ง ผลาญงบฯ เละ 40 ล้าน … คุยโขมงระบบเสียง-ป้องกันจารกรรมชั้นหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงใช้งานไม่ได้สักอย่าง …” (มติชน 22 เมษายน 2533)

และตัวอย่างเนื้อข่าวว่า 

“[สำหรับระบบต่อต้านจารกรรมนั้น]… ล่าสุด … มีการทดสอบอีกครั้ง … ด้วยการนำวิทยุรับส่งมือถือมาทดสอบเรียกขานระหว่างข้างนอกกับข้างในห้องประชุม ปรากฎว่าระบบดักคลื่น … ไม่สามารถรบกวนหรือตัดสัญญาณวิทยุดังกล่าวได้เลย …” (มติชน 22 เมษายน 2533)

ความวุ่นวายต่างๆ ในการสร้างห้องประชุมชั้น 5 ของตึกบัญชาการ ดูเหมือนจะจบลงในเดือนสิงหาคม 2533 ด้วยการที่บริษัทที่ประมูลงานได้ ต้องคืนเงินค่าจ้างบางส่วน และถูกปรับจากความล่าช้าในการส่งงาน รวมเป็นเงินกว่าสองล้านบาท พร้อมกับมีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการว่า ห้องประชุมชั้น 5 นี้มีจุดอ่อนอย่างไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง เมื่อเวลาผ่านไปถึง 25 ปี ผู้เขียนเข้าใจว่า จุดอ่อนทุกจุดที่มีการบันทึกไว้น่าจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงจนครบถ้วนแล้ว สิ่งที่เราควรจะได้รับจากการย้อนกลับไปดูอดีต ก็คือแนวทางรับมือกับปัญหา ด้วยการทดสอบให้เห็นแน่ชัดว่ามีปัญหาหรือไม่ ปัญหาคืออะไรกันแน่ ประกอบกับต้องมีการทดลองใช้จริงโดยกลุ่มผู้ใช้จริง แล้วนำปัญหามาดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ไม่พยายามปฏิเสธปัญหาหรือเอาแต่หาข้อแก้ตัว 

วกกลับมาถึงปัจจุบัน เมื่อได้ยินเรื่องไมโครโฟนตัวละ 1.45 แสนบาทแล้ว ผู้เขียนไม่ได้ตื่นเต้นกับคำกล่าวอ้างว่าเป็นเทคโนโลยีเดียวกับของทำเนียบขาว ซึ่งประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ใช้อยู่  หรือฝังใจกับตัวเลขราคามากนัก คือถ้าสามารถลดราคาลงมาได้ก็จะเป็นการดีอย่างแน่นอน แต่ที่สำคัญขอให้ทดสอบกันให้รอบคอบ ทั้งส่วนที่เป็นระบบโสตทัศน์และระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งที่เกี่ยวกับเอกสาร ภาพ เสียง และข้อมูลดิจิตัล (อย่างหลังนี้ไม่ได้มีความสำคัญมากนักสมัยเมื่อ 25 ปีก่อน แต่สำคัญมากในปัจจุบัน) นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องทดลองใช้ว่าสามารถใช้ระบบโสตทัศน์รองรับการประชุมได้จริง โดยมีความสะดวกสบายในการใช้งาน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประชุม หรือต่อการรักษาความปลอดภัย และอย่าให้ต้องมีเถ้าแก่ของบริษัทที่ชนะการประมูลเครื่องเสียง มาร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยทุกนัดก็แล้วกัน !

 

————————————-

ปรับปรุงมาจากบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และคมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน 2557

ความเห็นของผู้เขียน เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ผูกพันหน่วยงานใดๆ ที่ผู้เขียนเคยทำงานหรือทำงานอยู่

____________________

ดร. เลอสรร ธนสุกาญจน์ ผู้เขียนเรื่องนี้ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอดีตเคยเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาวิศวกรรมศาสตร์และ
อุตสาหกรรมวิจัย เคยเป็นกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ 
เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยนาโน 
เคยเป็นกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี 
และเคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ