Scientists for Society - นักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม

Roles of Faculty of Science Alumni and Personnel in the Political Rallies to Bring About the Country's Reform Before Holding a General Election

บทบาทของนิสิตเก่า คณาจารย์ และบุคลากรปัจจุบันของคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ในการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง

From October 2013 to May 2014, alumni and present personnel of Chulalongkorn University Faculty of Science took part in the political rallies in order to protest against the passing of the Amnesty Draft Bill, to demand the government's resignation, to call for the end of "Wicked Capitalism" in Thailand, and to support the public cry to bring about the country's reform before holding a general election.  Our alumni and personnel exercised their rights and performed their duties under Thai the Constitution.  Their roles deserve to be recorded in history in accordance with the University's motto "Pillar of the Kingdom."

ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ศิษย์เก่าและบุคลากรปัจจุบันของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมือง เพื่อคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ต่อต้านระบอบทุนนิยมสามานย์ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง กิจกรรมเหล่านี้เป็นการทำหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยประชาคมของสถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน สมควรได้รับการบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์

ถึงแม้นิสิตเก่า คณาจารย์ และบุคลากรปัจจุบันของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้สึกต่อต้านระบอบทุนนิยมสามานย์มีจำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากขาดการบริหารจัดการ จึงทำให้กำลังพลของจุฬาฯ จากทางสายวิทยาศาสตร์ ที่ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วยบุคคลกลุ่มเล็กๆ ที่ไปชุมนุมและร่วมกิจกรรมอย่างเป็นเอกเทศ โดยกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 คนเป็นส่วนมาก ดังนั้นเพื่อจะให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงความเป็นจริง บทความนี้จึงได้รับการเขียนขึ้นจากข้อมูลของนิสิตเก่า 13 ท่าน ประกอบกับข้อมูลของคณาจารย์และบุคลากรกว่า 30 ท่าน เป็นตัวแทนของประชากรชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ ที่ไปร่วมชุมนุมฯ (ไม่นับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรืองวิทย์ บรรจงรัตน์ หรืออาจารย์เมย์ จากภาควิชาพฤษกษศาสตร์ ซึ่งได้กล่าวถึงแยกไว้ต่างหากในเรื่อง “พ่อบ้านใหญ่ของชาวเต็นท์” ในเอกสารอ้างอิง)

Supaart Tipaporn Surasak

เมื่อชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ ถูกถามว่ามาชุมนุมเพราะเหตุใด คำตอบที่ได้ค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนิสิตเก่า คณาจารย์ หรือบุคลากรปัจจุบัน ดังตัวอย่าง:

“ออกมาชุมนุมเพราะรัฐบาลปล่อยให้ในหลวงถูกรังแก”

“รับไม่ได้ ทนไม่ไหว มันมากเกินไปแล้ว อยากให้ประเทศไทยเดินไปในทิศที่ถูกต้อง”

“ไม่ชอบคนโกง เกลียดคนชั่ว คนทำไม่ถูกทำนองคลองธรรม คนไม่ตรงไปตรงมา คนไม่โปร่งใส คนที่ทำเพื่อพรรคพวก”

“ออกมาชุมนุมเพราะความถูกต้องของสังคมขาดหายไป ด้วยสำนึกว่านักการเมืองน่าจะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ แต่กลับโกงกินชัดเจน”

“ถ้าปล่อยให้แทรกซึมจนเข้าสายเลือดคนไทยจะแก้ไม่ได้ ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนประโยชน์ส่วนรวม ตั้งแต่การเมืองระดับชาติลงไปถึงการเมืองระดับท้องถิ่นจะซื้อเสียงกันหมด หรือใช้การเอื้อประโยชน์ให้กันเพื่อกลับมาครองอำนาจอีก”

“เมื่อมีผู้นำเกิดขึ้นแล้ว เราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพลัง ถ้าพลาดจังหวะนี้ไป ก็อาจจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว”

เมื่อมีความรู้สึกตรงกันว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ประเทศไทยกลับไปสู่ความถูกต้องแล้ว ส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็คือวิธีการแสดงออก เป็นต้นว่า คุณณรงค์ โชควัฒนา (เคมี รหัสแรกเข้า 07) แสดงออกเป็นการเฉพาะตัวโดยได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองออกเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร. สุดา เกียรติกำจรวงศ์ (อดีตหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ และอดีตรองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์) ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล (ผู้อำนวยการธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์) ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ดำรงเลิศ (อดีตหัวหน้าภาควิชาเคมีเทคนิค) และศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ (อดีตหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีภาพถ่ายและการพิมพ์ และอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์) ร่วมออกแถลงการณ์ และ/หรือขึ้นเวทีพร้อมกับกลุ่มสำนักวิทยาศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน เรียกร้องรัฐบาลรักษาการที่หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ให้ลาออกทั้งคณะโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ของชาววิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อย่างน้อยที่สุดก็จะไปชุมนุมตามเวทีต่างๆ ให้บ่อยเท่าที่จะหาเวลาได้ จากนั้นเมื่อมีการเป่านกหวีดรวมพลหรือเดินขบวน ก็พยายามจะเข้าร่วมทุกครั้งเพื่อแสดงพลังด้วยจำนวนของเจ้าของประเทศที่แท้จริง อีกทั้งในการซื้อเสื้อที่ระลึกและเครื่องประดับที่แสดงสัญลักษณ์ของความรักชาติ ก็เลือกซื้อแต่เฉพาะจากผู้ขายที่แน่ใจว่าจะส่งเงินให้ถึงมือ กปปส. เท่านั้น

Supot

การจัดเตรียมรูปขบวนทุกครั้งที่มีการเดินขบวนออกจากรั้วจุฬาฯ ได้อาศัยคุณูปการของ ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้สั่งให้เปิดห้องน้ำใต้ตึก “พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ไว้ต้อนรับ นอกจากนั้นท่านคณบดียังได้นำทีมรองคณบดี เช่น รองศาสตราจารย์ ดร. สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ และหัวหน้าภาควิชาหลายภาค เช่น ศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี ทัศนาขจร (หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี) รองศาสตราจารย์ ดร. เก็จวลี พฤกษาทร (หัวหน้าภาควิชาเคมีเทคนิค) และรองศาสตราจารย์ ดร. สายวรุฬ ชัยวานิชศิริ (หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร) เป็นต้น พร้อมทั้งคณาจารย์เท่าที่จะรวมพลได้ ไปนั่งฟังการปราศรัยอยู่หน้าเวที กปปส. ตั้งแต่ที่ราชดำเนิน ปทุมวัน จนถึงสวนลุมพินี อยู่เป็นประจำ ทั้งยังเคยไปอุดหนุนซื้อสินค้าเครื่องประดับ และเล่นเกมส์ปาเป้าของจุฬาประชาคมด้วย

Group Photo 1 Group Photo 2 Shooting

นิสิตเก่าวิทยาศาสตร์จุฬาฯ และบุคลากรปัจจุบันของคณะฯ หลายท่านได้บริจาคเงินและสิ่งของให้แก่ กปปส. และมวลมหาประชาชน ในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น รองศาสตราจารย์ ดร. มะลิ หุ่นสม (อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีเทคนิค ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และนายทะเบียนคณะฯ) ร่วมกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่หลายคนในคณะวิทยาศาสตร์ ออกเรี่ยไรเงินจากอาจารย์ในคณะฯ นำไปซื้อผ้าห่มจากร้านขายส่งได้ 160 ผืน เพื่อแจกผู้ชุมนุมที่สวนลุมพินีเมื่ออากาศเริ่มหนาวในเดือนมกราคม 2557 ส่วนอาจารย์อีกกลุ่มหนึ่งจากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. สายวรุฬ ชัยวานิชศิริ และรองศาสตราจารย์ ดร. อุบลรัตน์ สิริภัทราวรรณ ก็เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินจากศิษย์เก่าของภาควิชา เพื่อซื้อน้ำดื่ม ผ้าพันแผล ยา ผ้าอนามัย และเสื้อกันหนาว เป็นต้น มาแจกผู้ชุมนุม นอกจากนั้นอาจารย์อีกท่านหนึ่งจากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ได้เรี่ยไรเงินจากผู้ชุมนุม มาซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ที่ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารเอง ตั้งโรงปฏิบัติการต้นแบบผลิตจำหน่าย เพื่อนำไปแจกผู้ชุมนุมและผู้เดินขบวน ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยของอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เป็นร้อยท่านที่ได้ออกมาแสดงความรักชาติในครั้งนี้ โดยยังไม่นับอาจารย์อาวุโสที่เกษียณอายุราชการไปแล้วอีกหลายท่าน ซึ่งออกมาชุมนุม และมาเดินขบวนหลายครั้งตามที่มีการประกาศเชิญชวน อาทิ ศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รจิต วัฒนสินธุ์ (อดีตหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์) รองศาสตราจารย์สุชาตา ชินะจิตร (อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี และอดีตรองอธิการบดีด้านกิจการนโยบาย) และรองศาสตราจารย์ ดร. จริยา บุญญวัฒน์ (อดีตหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี) เป็นต้น บางท่านเดินไปได้ระยะหนึ่งแล้วเดินต่อไม่ไหวเพราะสังขารไม่อำนวย ก็ลงนั่งให้กำลังใจรุ่นน้องๆ หรือส่งคู่สมรสที่ยังเดินไหวให้เดินไปจนถึงที่หมาย

Suchata Jariya

ในเรื่องอาหาร ชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ หลายท่านซื้ออาหารไปแจกให้ผู้ชุมนุมเป็นประจำ ในขณะที่บางท่านก็ซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหารด้วยเงินส่วนตัวเพื่อทำกับข้าวใส่ถุงพลาสติกหรือทำข้าวเหนียวหมูปิ้งแล้วนำไปเดินแจกให้ผู้ชุมนุมตามเวทีต่างๆ นอกจากนั้น นิสิตเก่าวิทยาศาสตร์จุฬาท่านหนึ่ง ชื่อคุณศักดิ์ - ศิริศักดิ์ ธนานิมิตร (วัสดุศาสตร์ รหัส 21) ได้แบ่งเวลาการบริหารกิจการเครื่องปั้นดินเผาของครอบครัว มาช่วยแจกยาและน้ำอยู่ในเต็นท์เภสัชที่หน้าโอสถศาลา ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญอยู่หน้าเตาในครัวพญาไทอย่างต่อเนื่องจนเมื่อครัวพญาไทย้ายไปอยู่ที่สวนลุมพินีและเปลี่ยนชื่อเป็นครัวจุฬาฯ คุณศักดิ์ก็ได้ติดตามไปช่วยอยู่ตลอด

Group Photo 3 Group Photo 4 Group Photo 5

นอกจากการบริจาคอาหาร น้ำ และสิ่งของเครื่องอุปโภคแล้ว ชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ ส่วนใหญ่ได้เคยหย่อนเงินสดลงในตู้รับเงินบริจาคข้างเวทีต่างๆ ของ กปปส. แต่ก็มีอาจารย์บางท่านจากคณะวิทยาศาสตร์ เช่น รองศาสตราจารย์ ดร. นินนาท ชินประหัษฐ์ (เทคโนโลยีทางอาหาร) และอาจารย์ ดร. เกื้อการุณย์ ครูส่ง (ชีวเคมี) ที่อดทนยืนรอขบวนเพื่อยื่นเงินสดใส่มือของลุงกำนันสุเทพจนประสบความสำเร็จ สำหรับยอดการบริจาคสูงสุดนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า คุณไบ๊ - เพชรรัตน์ เอกแสงกุล (วิทยาศาสตร์ทั่วไป รหัส 18) ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตสีทาบ้านยี่ห้อหนึ่ง ได้ทำยอดการบริจาคเงิน สิ่งของ และน้ำดื่ม คนเดียวรวมประมาณหนึ่งแสนบาท รองลงมาเป็นการบริจาคเงินเป็นหลักหมื่น เช่นการบริจาคสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มจุฬาประชาคมโดย คุณแพะ - ธนกร เอี่ยมประดิษฐ์ภัณ ซึ่งเข้าเรียนเตรียมสัตวแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ (รหัส 17) ก่อนจะย้ายไปเรียนบัญชี แต่สนิทกับกลุ่มเพื่อนจากคณะวิทยาศาสตร์มากจนสามารถนับเป็นชาววิทยาศาสตร์ได้คนหนึ่ง

Group Photo 6 Group Photo 7

นอกเหนือจากการทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูงเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้ว ชาววิทยาศาสตร์บางท่าน ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มจุฬาประชาคม ด้วยการ พับเสื้อ ขายเสื้อ ออกแบบ ผลิต และขายสินค้าที่ระลึก เช่น บัตรห้อยคอ นกหวีดจุฬาฯ และตุ๊กตาชนิดต่างๆ คุมเต็นท์ปาเป้า รวมทั้งขึ้นเวทีเป็นกลุ่มเพื่อแสดงพลังหรือนำเสนอความประทับใจที่ได้ไปร่วมกิจกรรมของ กปปส. หรือเพื่อบริจาคเงินให้ กปปส. ผ่านลุงกำนันหรือแกนนำท่านอื่นเป็นต้น การเข้าร่วมกิจกรรมนั้นมักเริ่มต้นจากการชักชวนโดยเพื่อนชาวจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นชาววิทยาศาสตร์หรือชาวคณะอื่น ที่ร่วมกิจกรรมของจุฬาประชาคมอยู่แล้ว หรือบางรายอาจได้รับการเชิญชวนกันข้างถนนในยามที่ขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแรกเปิดเต็นท์แม้ผู้ชวนและผู้ถูกชวนอาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตาม

ที่เต็นท์ของจุฬาประชาคม มีชาววิทยาศาสตร์หลายท่านประจำการอยู่ร่วมกับชาวจุฬาฯ จากคณะอื่นๆ เป็นต้นว่า คุณแก้ว ขจรไชยกูล (วิทยาศาสตร์ทั่วไป รหัส 36) และเพื่อนรุ่นเดียวกันอีกสองคน ชื่อคุณหนุ่ม - ทูลศักดิ์ วัลยะเพชร ซึ่งผ่านการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมในปี 2535 และคุณแมว - สาวิตรี ผาตยานนท์ ซึ่งทำงานอยู่สระบุรีจึงมาช่วยในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และลางานมาเมื่อมีการเป่านกหวีดรวมพล นอกจากนั้นก็มีคุณบัว - อุบลรัตน์ อัตตรัถยา (วัสดุศาสตร์ รหัส 18) ซึ่งพาสามี และลูกสองคนมาร่วมกิจกรรมด้วยเป็นประจำ ลูกสาวคนโตชื่อคุณมิ่ง - ดร. จักรี์รดา อัตตรัถยา (เทคโนโลยีทางอาหาร รหัส 46) ก็เป็นนิสิตเก่าวิทยาศาสตร์เหมือนคุณแม่ นอกจากนั้นก็มีคุณเล็ก - ณรงค์รัชช์ ทวีธนาพงศ์ (วิทยาศาสตร์ทั่วไป รหัส 34) ซึ่งมีเพื่อนฝูงช่วยกันระดมหาทุนได้เกือบ 9 หมื่นบาท มาจัดกาแฟ ปาท่องโก๋ และผลไม้ เลี้ยงผู้ชุมนุมที่เต็นท์จุฬาประชาคมปทุมวัน ต่อเนื่องกันทุกเช้าเป็นเวลาสองสัปดาห์ ทั้งยังเหมาก๋วยเตี๋ยว และไอศกรีม มาเลี้ยงผู้ชุมนุมตามโอกาส ก่อนที่จะผันตัวเองไปช่วยทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ส่วน ดร. เลอสรร ธนสุกาญจน์ (อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี) ได้ปฏิบัติหน้าที่ช่างภาพประจำกลุ่มจุฬาประชาคม บันทึกภาพประวัติศาสตร์ของชาวจุฬา-ธรรมศาสตร์ ไว้ได้ประมาณห้าพันรูป ตั้งแต่ กปปส. เปิดเวทีปทุมวัน ตลอดมาจนหลังการยึดอำนาจ

Group Photo 3

นอกจากทำงานประจำกันในเต็นท์แล้ว เมื่อมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาราวต้นเดือนเมษายน 2557 ว่าคนเสื้อแดงกำลังระดมหาซื้อน้ำกรดอุตสาหกรรมเพื่อจะนำไปรดน้ำดำหัวผู้ที่คิดไม่เหมือนกับพวกเขา ก็เป็นโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเพื่อเตรียมการรับมือ อันได้แก่การเสนอแนะมาตรการป้องกันต่อ กปปส. เช่น ห้ามนำของเหลวเข้ามาในสวนลุมพินีอย่างเด็ดขาดระหว่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการตั้งถังน้ำพระพุทธมนต์กลาง โดยมีการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม นอกจากนั้นที่เต็นท์จุฬาประชาคมยังได้เตรียมสารเคมีไว้สามชนิด ได้แก่ โซดาปิ้งขนม หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) สำหรับสะเทินฤทธิ์กรด, กรดน้ำส้ม (acetic acid) สำหรับสะเทินฤทธิ์ด่าง และซิงค์ สเตียเรท (zinc stearate) สำหรับเคลือบมือของผู้อาวุโสก่อนไปเข้าพิธีรดน้ำดำหัวเพื่อป้องกันทั้งกรดและด่างที่อาจจะผสมอยู่ในน้ำไม่ให้กัดมือได้ แต่สุดท้ายก็เคราะห์ดีที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้น

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยในที่ชุมนุมอีกเรื่องหนึ่งซึ่งชาววิทยาศาสตร์ได้มีส่วนร่วมก็คือ เมื่อหลายฝ่ายเริ่มตระหนักว่าครัวต่างๆ น่าจะเลิกใช้ถ้วยและจานที่ทำจากโฟมพลาสติก และได้คิดจะแทนที่ภาชนะโฟมด้วยภาชนะพลาสติกเมลามีนซึ่งล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้นั้น พวกเราก็ได้ช่วยเสนอระบบการล้างจานของสันติอโศกและกองทัพธรรมเป็นตัวอย่าง ต่อจากนั้น หลังจากมีการประกาศให้ทุกครัวรอบเวทีปทุมวันเปลี่ยนจากถ้วยโฟมเป็นภาชนะเมลามีนแล้ว เราก็ได้ติดตามประเมินผลการล้างจาน ใน 4 ครัวใหญ่ของเวทีปทุมวัน พร้อมกับเสนอวิธีการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ จนระบบการล้างจานในครัวต่างๆ เริ่มใช้งานได้อย่างสะดวกและได้จานที่สะอาด

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสุกงอมเต็มที่ในเดือนพฤษภาคม 2557 และเกิดการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจำของชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ ก็คือความประทับใจ ทั้งต่อ กปปส. ต่อมวลมหาประชาชน ต่อมวลมหาจุฬาชนด้วยกันเอง ต่อจุฬาประชาคม และต่อสิ่งที่แต่ละท่านได้ทำลงไป

ชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ หลายคนมีความรู้สึกว่า กปปส. เป็นผู้เสียสละ มีแผนงานที่ดี ปลุกระดมคนได้มาก จัดการเก่ง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างวินัยให้คน และให้ความสำคัญต่อการรักษาความสะอาด สำหรับมวลมหาประชาชนเอง ก็มีความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจให้กัน แบ่งน้ำ อาหาร ขนม ยาดม ฯลฯ มีวัฒนธรรมการชุมนุมที่หาได้ยาก ชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ บางท่านบอกว่า “แต่ก่อนก็ไม่เคยใกล้ชิดกับคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะพี่น้องจากภาคใต้ แต่หลังจากไปชุมนุมหรือไปเดินขบวน ก็ได้เพื่อนต่างจังหวัดหลายคน และบางคนยังติดต่อกันอยู่หลังจากเลิกชุมนุมไปแล้วด้วย ขอขอบคุณพี่น้องจากทุกจังหวัดที่สละเวลา สละเงิน สละโอกาส มาร่วมชุมนุมเพื่อประเทศชาติ ด้วยความรักกัน ช่วยเหลือกันเต็มที่”

ในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนชาวจุฬาฯ หลายท่านกล่าวคล้ายกันว่า “ประทับใจในความรักชาติและความเสียสละของทุกคน ดีใจที่เพื่อนๆ ทั้งหลาย ยังมีจิตใจมั่นคงในความเป็นธรรม และเสียสละเวลาไปเข้าร่วมชุมนุม เพื่อรักษาความเป็นธรรมให้สังคม” หลายคนประทับใจความทุ่มเทของรุ่นพี่ ที่มีให้กับกิจกรรมในเต็นท์จุฬาประชาคม และในการดูแลสวัสดิภาพของรุ่นน้องๆ ในขณะที่ท่านหนึ่งสรุปว่า “ธรรมะจัดสรรให้คนดีที่รักชาติได้มาเจอกัน”

สำหรับสิ่งที่แต่ละท่านได้ทำลงไปนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กัน ก็คือถึงจะเหนื่อยจากการเดินขบวน การแจกอาหารเครื่องดื่ม การยกของ การพับเสื้อและการขายเสื้ออย่างต่อเนื่อง การเก็บลูกเทนนิสในเต็นท์ปาเป้า หรือการเก็บขยะตอนกลางคืนหลังปิดเต็นท์ แต่ก็มีความสุขมากที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสเสียสละเพื่อประเทศชาติ นิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่า “ตั้งแต่เรียนจุฬาฯ ได้เห็นคำขวัญ ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน’ มานานแล้ว เพิ่งจะเข้าใจความหมายเมื่อเราได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่เพื่อสังคม” ในขณะที่อีกท่านหนึ่งเสริมว่า “ถึงจะเรียนจบไปแล้ว ชาวจุฬาฯ ก็ยังทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ ยิ่งถ้าสามารถรวมกลุ่มกันก็จะยิ่งทำประโยชน์ได้มากขึ้น” โดยสรุปก็คือ สิ่งที่พวกเราชาววิทยาศาสตร์จุฬาฯ ได้ร่วมกันทำลงไปในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม” นั้น ได้ช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” สมดังปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

มวลมหาจุฬาชน